top of page

ประวัติวัดขุนอินทประมูล

วัดขุนอินทประมูล เป็นพระอารามราษฎร์ ชั้นสามัญ ตั้งอยู่ หมู่ ๓ ตำบลบางพลับ อำเภอโพธิทอง จังหวัดอ่างทอง ประกาศขึ้นทะเบียนวัดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เนื้อที่วิสุงคามสีมา ๘๐ ไร่เศษ

 

ประวัติเดิมวัดเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ใช้เป็ฯที่วิปัสสนา สร้างเป็นเพิงพักเครื่องไม้ไผ่หลังคามุงแฝกฝีมือชาวบ้าน บริเวณเดิมเป็นโคกสูงน้ำท่วมไม่ถึง สมัยโบราณเป็นแหล่งที่ชาวบ้านนำ วัวควาย มาปลูกเพิงอาศัยดูแลในฤดูน้ำท่วม เดือน ๑๑-๑๒ ของทุกปี เมื่อน้ำลดก็นำวัวควายกลับที่พำนักยังถิ่นที่อยู่เดิม เป็นดังนี้มาตลอด

 

สมัยโบราณทวาราวดี บริเวณบ้านบางพลับตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งเป็ฯแนวผ่านมาจาก นครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ไปจนถึงเมืองลพบุรีหรือเมืองละโว้เดิม ต่อมากลายเป็นแม่น้ำน้อย ซึ่งมีคลองบางพลับเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย  เชื่อกันว่าในสมัยสุโขทัยนั้นบ้านบางพลับเป็นชุมชนใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยเชื่อมกับคลองบางพลับ และวัดขุนอินทประมูลตั้งอยู่ริมฝั่งคลองนี้

 

ตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงประวัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลนี้ไว้ว่า สมัยสุโขทัยยังรุ่งเรือง ในยุคที่พระยาเลอไทสืบราชสมบัติต่อมาจากพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นบิดา สมัยกรุงสุโขทัยยังรุ่งเรือง ในยุคที่พระยาเลอไทสืบราชสมบัติต่อมาจากพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นบิดา ครั้งนั้นพระยาเลอไทเสด็จจากกรุงสุโขทัย เดินทางโดยชลมาครมานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ เขาสมอคอน ในเขตกรุงละโว้ การเสด็จมาครั้งนั้นมาทางแม่น้ำยมเข้าสู่แม่น้ำปิงแล้วเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแยกแม่น้ำมหาศร (ปัจจุบันเพี้ยนเป็นมหาสอน) เข้ามาเขาสมอคอนอันเป็นที่พำนักของฤาษี ผู้เป็นอาจารย์ (ฤาษีตนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้ารามคำแหง ผู้เป็นบิดาด้วย)

 

เมื่อนมัสการฤาษีสุกกะทันตะแล้ว พักแรมอยู่ ณ เขาสมอคอน ๕ เพลา ได้เสร็จข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาล่องมาตามแม่น้ำน้อย โดยผ่านมาตามคลองบางพลับเพื่อเสด็จประพาสท้องทุ่ง เนื่องด้วยเวลาที่เสด็จมานั้นเป็นเวลาน้ำเหนือบ่า และได้แวะประทับโดยสร้างพลับพลา ณ โคกบางพลับแห่งนี้

 

ขณะประทับแรมอยู่ ณ โคกบางพลับ เวลายามสามจึงเกิดศุภนิมิตรทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นเหนือยอดไม้หายไปในอากาศทางทิศตะวันออก เกิดปิติโสมนัส ดำริสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเป็นพุทธบูชาด้วยคติที่ว่า พระองค์ประทับแรมอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดยมอบหมายให้นายบ้านเกณฑ์แรงงานทั่วแคว้นแดนลุ่มแม่น้ำน้อยทั้งหมด ได้คนพันเศษขุดหลุมกว้าง ๒๐๐ วา นำท่อนซุงนับร้อยท่อนลงวางขัดตารางเป็นฐานแล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลังขนดินขึ้นถมสูง ๓ วา (ปัจจุบันเป็นสระกว้างอยู่ทางด้านหลังของวัด) และให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่งระดมทําอิฐเผา (มีโคก ที่เรียกว่า โคกเผาอิฐ และตําบลบ้านท่าอิฐอยู่ ในเขตอําเภอโพธิ์ทองในปัจจุบัน) การสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ โคกบางพลับแห่งนี้ กินเวลานาน ๕ เดือนจึงแล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๕ ปี พ.ศ. ๑๘๗๐ สําเร็จเป็นองค์พระพุทธไสยาสน์ยาว ๒๐ วา สูง ๕ วา

 

 เมื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จแล้วขนานพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร” มอบให้ นายบ้านผู้ดูแลแต่งตั้งทาสไว้ ๕ คน แล้วเสด็จ นิวัติสู่กรุงสุโขทัย

 

เนื่องจากพระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร ถูกทอดทิ้งตากแดดตากฝันท่ามกาลางป่ารกอยู่นาน การดูแลรักษาก็ไม่ได้กระทำต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ถูกทิ้งร้างมานานจนกรุงสุโขทัยเสื่อมอํานาจลงและกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีอํานาจขึ้นมาแทนที่ ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ มีพระภิกษุทรงวิทยา (ชื่อตามคำเรียกของชาวบ้าน หลังที่มีการสร้างพระพุทธไสยาสน์แล้ว)  เป็นที่กระทําวิปัสสนา กรรมฐาน โดยมีกำลังศรัทธาของชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเพิงพักให้เป็นที่จําวัด ต่อเนื่องกันมาเนิ่นนานจนถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในครั้งนั้นมีนายอากรตําแหน่งที่ขุนอินทประมูล นายบ้านบางพลับ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (ในอดึตการปกครองครอบคลุมถึง สิงห์บุรี ชัยนาท)ในประวัติเล่าสืบต่อมานั้นกล่าวว่า ขุนอินทประมูลนั้นเป็นคนจีนมีชื่อเดิมว่า เส็ง มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อนางนาก ไม่มีบุตรสืบตระกูล เป็นผู้ที่มีจิตศรัทธาฝักใฝ่ในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ปรารภว่าจะพยายามซ่อมสร้าง พระพุทธไสยาสน์และสร้างวัด ณ โคกวัด นี้ให้สําเร็จด้วยอุตสาหะแห่งตนให้จงได้ โดยเริ่มแรก ได้นําทรัพย์สินส่วนตัวที่เก็บออมไว้ประมาณ ๑๐๐ ชั่ง ออกมาสร้างวิหาร และเจดีย์ขึ้น ณ โคกใหญ่ด้านตะวันออกสําเร็จลงเรียบร้อย ต่อมาเห็นว่าพระพุทธไสยาสน์ทรุดโทรมลงทุกวัน องค์พระแทบพังทั้งหมด ทลายลงกองกับพื้นดิน จึงดําริถากถางป่าและซ่อมองค์พระพุทธไสยาสน์ ขึ้นใหม่รวมทั้งจัดสร้างหลังคาคลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้น โดยจัดทําเป็นเสาอิฐก่อเครื่องบน เป็นเครื่องไม้หลังคามุงด้วยหญ้าแฝกเป็นเครื่องกันแดดฝน ขยายองค์พระออกไปเป็นความยาว ๒๕ วา สูง ๕ วา ๒ ศอก 

 

การซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้นนับเป็นมูลค่าเงินหลายร้อยชั่ง ขุนอินทประมูลนําทรัพย์ส่วนตัวออกมาสร้างจนหมด จึงเจตนายักยอกพระราชทรัพย์หลายร้อยช่างนำมาสร้างต่อจนสําเร็จ แล้วพยายามปกปิดไว้ไม่ยอมให้ข่าวแพร่งพรายไปถึง พระนครศรีอยุธยา แต่ข่าวก็เล่าลือไปถึงพระยาวิเศษไชยชาญ เจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ส่งคนมาสอบถามได้ความจริงจึงนำเรื่องขึ้นกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมขึ้นมาไต่สวน ขุนอินทประมูลให้การภาคเสธ จึงสั่งให้ราชมัณฑ์ลงฑัณฑ์เฆี่ยน  ๓ ยกเพื่อรับสัตย์ แต่ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับสารภาพผิด อ้างว่าเป็นทรัพย์ส่วนตนจัดสร้างทั้งหมด ด้วยเกรงว่าเมื่อรับสารภาพแล้วส่วน 

 

ท้ายที่สุดทนการลงทัณฑัลฑ์ของราชมัณฑ์ไม่ไหวเมื่อใกล้สิ้นใจ ได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้งดโทษแล้วสารภาพว่า ได้ยักยอกพระราชทรัพย์จริง แต่มุ่งสร้างให้เป็ฯการเสริมพระบารมี ภายหลังขุนอินทประมูลทนรับการลงทัณฑ์ไม่ไหวถึงแก่ชีวิต  เดือน ๕ พ.ศ. ๒๒๙๖   ประมาณอายุ ได้ ๘๐

 

พระยากลาโหมกลับไปทูลความให้ทรงทราบ  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบความตามกราบทูล เสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อ พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดสมมโนรส ทรงโปรดให้ฝังร่างของขุนอินทประมูลไว้ใน เขตพระวิหาร ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ หลังจากทําพิธียกเกศทองคําหนัก ๑๐๐ ชั่ง พระราชทานประดับเหนือพระเศียรพระพุทธไสยาสน์ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดขุนอินทประมูล” และ ถวายนามพระพุทธไสยาสน์ว่า “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล” มีประวัติบอกเล่าตามคําบันทึกให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พม่าบุกเข้าปล้นเอาพระเกศทองคํา เผาพระวิหาร และองค์พระพุทธไสยาสน์เสียหายทั้งหมด เมื่อเสียกรุงแก่พม่าครั้ง ที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ความในประวัติศาสตร์กว่าวสืบเนื่องต่อกันมา เช่นนี้ จริงเท็จประการใดขอยกเว้น 

 

วัดขุนอินประมูล ถูกทอดทิ้งให้ร้างจมอยู่ในป่าโคกวัดนานถึง ๔๐๐ ปี จนล่วงมาหลายสมัยรัตนโกสินทร์ รัชการที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประวัติสำคัญเกี่ยวกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังว่า ครั้วหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๐ เมื่อสมเด็จฯ เดินทางขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ที่จะสร้างพระพุทธรูปนั่ง พระมหาพุทธพิมพ์ ณ วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง

 

ครั้งนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก สมเด็จฯ ให้ชาวบ้านผู้ติดตามแจวเรือลัดทุ่งมา นมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล และพำนักพักค้างคืนอยู่ ณ บริเวณโคกวัด เป็นเวลา ๑ คืน หลังจากสมเด็จฯ กลับไปยังวัดระฆัง ได้เข้าเฝ้าถวายพระพรเรื่อง พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล ให้รัชการที่ ๔ ทรงทราบอันเป็นเหตุให้ เมื่อสมัยรัชการที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ได้เสร็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ และเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗) วัดขุนอินทประมูลเริ่มมีการพัฒนาชัดเจนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีพระอธิการสร้าง ธีรปัญโญ มาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสแต่งตั้งองค์แรกได้ ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตวัดออกไปทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เริ่มสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ อาทิ กุฏิสงฆ์ กุฏิเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ ฯลฯ

 

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดขุนอินทประมูลไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ และเริ่มการซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จ พระราชดำเนิน มานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙

 

ปัจจุบันพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ เจ้าอาวาส

 

งานนมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล มีปีละ ๒ ครั้งในเดือน ๕ แรม ๗-๘ ค่ำ ครั้งหนึ่ง และเดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านไปร่วมงานบุญตามวันเวลาดังกล่าว

bottom of page